การให้ยาระงับความรู้สึก

การให้ยาระงับความรู้สึก

วิธีการให้ยาระงับความรุ้สึกแบบต่างๆ

การให้ยาระงับความรู้สึกมีหลายรูปแบบ  ขึ้นกับชนิดของการผ่าตัด  ระยะเวลาในการผ่าตัด โดยวิสัญญีแพทย์และผู้ป่วยจะมีส่วนร่วมในการการเลือกเทคนิคการระงับความรู้สึกที่เหมาะสม ทั้งนี้จะพิจารณาถึงอายุ พิจารณาถึงอายุ และโรคประจำตัวของผู้ป่วย   เพื่อให้เกิดความปลอดภัยมากที่สุด

การให้ยาระงับความรู้สึก1.การดมยาสลบแบบทั่วไป

เป็นเทคนิคที่ทำให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว โดยผู้ป่วยจะได้รับการฉีดยาผ่านทางสายน้ำเกลือ หรือใช้วิธีสูดดมยาสลบผ่านหน้ากาก  โดยระหว่างการผ่าตัดจะได้รับการดูแลทางเดินหายใจ  ด้วยอุปกรณ์เปิดทางเดินหายใจที่เหมาะสม  และจะได้รับการดูแลติดตามสัญญาณชีพระหว่างผ่าตัดโดยวิสัญญีแพทย์และวิสัญญีพยาบาล

2.การให้ยาระงับความรู้สึกเฉพาะส่วนของร่างกาย

เป็นเทคนิคที่ทำให้ชา ไม่มีความรู้สึกในตำแหน่งที่จะทำการผ่าตัด  แต่ระบบอื่นๆของร่างกายทำงานปกติ  โดยในระหว่างผ่าตัดวิสัญญีแพทย์อาจให้ยาทางหลอดเลือดดำ  เพื่อให้ผู้ป่วยคลายความกังวลในระหว่างที่ผ่าตัด

2.1 การฉีดยาชาระหว่างเส้นประสาท

วิสัญญีแพทย์จะทำการพิจารณาบริเวณที่ต้องการการระงับความรู้สึก โดยใช้เครื่องอัลตราซาวด์ หรือเครื่องกระตุ้นเส้นประสาท  ช่วยในการหาตำแหน่งของเส้นประสาท  หลังได้รับการฉีดยาชา ผู้ป่วยจะไม่มีความรู้สึก ในบริเวณที่เส้นประสาทดังกล่าวไปเลี้ยง

2.2 การฉีดยาชาเข้าในไขสันหลัง / ช่องเหนือไขสันหลัง 

มักใช้ในการผ่าตัดช่องอก ช่องท้อง  และร่างกายส่วนล่างหลังการฉีดยาชา  จะทำให้ไม่มีความรู้สึก และสามารถผ่าตัดได้ โดยเมื่อยาหมดฤทธิ์ ร่างกายบริเวณดังกล่าวจะกลับมามีความรู้สึกเหมือนปกติ ในบางครั้งจะมีการสอดสายขนาดเล็กไว้   เพื่อเติมยา หรือให้ยาอย่างต่อเนื่อง เพื่อระงับปวดหลังผ่าตัด

การให้ยาระงับความรู้สึก

หลังผ่าตัด

เมื่อผ่าตัดเสร็จผู้ป่วยควรได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง  ที่ห้องพักฟื้น  เพื่อติดตามสัญญาณชีพ หลังการผ่าตัดประมาณ 1 – 1.5 ชั่วโมง   เมื่อไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆ  จีงส่งผู้ป่วยกลับไปดูแลต่อที่หอผู้ป่วย

ข้อควรระวัง

ระหว่างการผ่าตัด  ท่านอาจได้รับยาสลบ หรือยากล่อมประสาท  ที่มีผลต่อการตัดสินใจ ในช่วง 24 ชั่วโมงแรก  หลังการผ่าตัด ท่านจึง ไม่ควร  ขับรถ  ทำงานเกี่ยวกับเครื่องยนต์  หรือการตัดสินใจทางกฎหมาย

ข้อควรปฏิบัติก่อนให้ยาระงับความรู้สึก

  1. งดน้ำและอาหารทุกชนิดก่อนผ่าตัดอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการอาเจียนหรือสูดสำลักอาหารเข้าหลอดลมระหว่างให้การระงับความรู้สึก
  2. สำหรับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหอบหืด โรคหัวใจ หรือโรคอื่นๆ ให้แจ้งแพทย์ทราบก่อนเสมอ ในกรณีที่รักษาที่โรงพยาบาลอื่นให้นำประวัติการรักษามาด้วยทุกครั้งที่มาโรงพยาบาล
  3. นำยาที่ใช้ประจำพร้อมฉลากยามาโรงพยาบาลทุกครั้งเพื่อแจ้งให้แพทย์ทราบ
  4. แจ้งประวัติแพ้ยาแพ้อาหารหรืออื่นๆให้แพทย์ทราบ (กรณีมีเอกสารกำกับการแพ้ยาให้นำมาด้วยทุกครั้ง)
  5. หยุดสูบบุหรี่อย่างน้อย 6 สัปดาห์ก่อนถึงวันผ่าตัด
  6. หยุดดื่มสุราหรือเบียร์อย่างน้อย 24 ชั่วโมงก่อนถึงวันผ่าตัด
  7. ในกรณีที่เคยมีประวัติการผ่าตัด ประวัติการระงับความรู้สึกหรือมีภาวะแทรกซ้อนจากการดมยาสลบครั้งก่อนให้แจ้งแพทย์ทราบทุกครั้ง
  8. ในกรณีที่มีฟันโยก ฟันปลอม และปัญหาเกี่ยวกับฟันให้แจ้งแพทย์ทราบ
  9. ในกรณีที่มีการตกแต่งเล็บให้เช็ดทำความสะอาดสีเล็บก่อนมาระงับความรู้สึก